ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สมเด็จพระราชปิตุจฉา
เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์
เจ้าฟ้าชั้นเอก
กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
ประสูติ16 เมษายน พ.ศ. 2427
พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพพระมหานคร
สิ้นพระชนม์15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 (54 ปี)
วังคันธวาส จังหวัดพระนคร
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พันเอกหญิง สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร (16 เมษายน พ.ศ. 2427 – 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482) เป็นพระราชธิดาลำดับที่ 48 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2427 เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก และเป็นพระโสทรเชษฐภคินีในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงเล็งเห็นความสำคัญกับการศึกษาของสตรีไทย เช่น ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ของโรงเรียนราชินี การก่อสร้างโรงเรียนราชินีบน และทรงจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ (ต่อมาคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์) เป็นต้น

พระองค์ทรงพระประชวรด้วยโรคพระวักกะพิการเรื้อรัง เคยเสด็จไปทรงรับการผ่าตัดที่ต่างประเทศถึง 2 ครั้ง จนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 มีพระอาการหนักอย่างน่าวิตก พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 23.15 นาฬิกา ของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2482) สิริพระชนมายุ 54 พรรษา

พระประวัติ

[แก้]

พระชนม์ชีพตอนต้น

[แก้]
สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฉลองพระองค์อย่างชาวตะวันตกตั้งแต่ทรงพระเยาว์
สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ในพระราชพิธีโสกันต์

สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เป็นพระราชธิดาลำดับที่ 48 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อวันพุธ แรม 6 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก ฉศก จ.ศ. 1246 ตรงกับวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2427 ณ พระตำหนักของพระมารดาในพระบรมมหาราชวัง พระองค์เป็นพระราชบุตรร่วมพระชนกชนนีลำดับที่ห้า จากพี่น้องทั้งหมดแปดพระองค์คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร,[1] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์,[2] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี,[3] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์,[4] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี,[5] สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก[6] และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (ไม่มีพระนาม)[7]

เมื่อพระชนม์ครบหนึ่งเดือนได้มีพระราชพิธีสมโภชเดือน ณ พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา บรมราชเทวี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2427[8] ชาววังออกพระนามว่า ทูลกระหม่อมฟ้าหญิง[9] หรือ ทูลกระหม่อมวไลย[10] บ้างก็ออกพระนามว่า ทูลกระหม่อมหญิงแหม่ม เนื่องจากทรงไว้พระเกศายาวประบ่าตั้งแต่ทรงพระเยาว์ กับมีพระพักตร์คล้ายกับชาวตะวันตก และโปรดฉลองพระองค์อย่างสตรีตะวันตก[11] แต่พระองค์จะลงพระอภิไธยว่า วลัย[10] จากการที่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีทรงสูญเสียพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ใน พ.ศ. 2430 พระองค์ทรงปรารภจะมีพระราชธิดา จึงทรงขอประทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารีจากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีให้เป็นพระราชธิดาในปลายปี พ.ศ. 2431 โดยมีจันทร์ ชูโต เป็นพระพี่เลี้ยง[12] พระองค์จึงเรียกสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีว่า "เสด็จแม่"[13] และเรียกสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีว่า "สมเด็จป้า"[14] พระองค์ประทับที่พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีโดยแบ่งครึ่งห้องพระบรรทม[15]

เบื้องต้นทรงได้รับการศึกษาจากโรงเรียนราชกุมารีที่ตั้งอยู่ในพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 โดยมีพระอิศรพันธ์โสภณเป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษร ส่วนวิชาภาษาอังกฤษมีพระอาจารย์ถวายการสอนคือ หม่อมเจ้ามัณฑารพ กมลาศน์, หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล, หม่อมจันทร์ เทวกุล ณ อยุธยา และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์[12] ทั้งนี้พระองค์ได้รับการกวดขันจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถอย่างสมัยใหม่ทั้งการศึกษา, การแต่งกาย, แนวคิด และการปฏิบัติพระองค์[13] เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี มีพระชันษา 12 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์ พระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี[16]

ต่อมาในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้การสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร[17] ในรัชกาลนี้ พระองค์ได้รับพระราชทานพระยศทางทหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกรมทหารม้าที่สอง มีพระยศเป็นนายพันเอก ซึ่งเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์เองก็เคยรับสั่งกับเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตว่า เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ให้จัดงานแบบทหารด้วย โดยรับสั่งว่า "ฉันเป็นทหาร"[12]

และท้ายที่สุดในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชร์บุรีราชสิรินธร[18]

สิ้นพระชนม์

[แก้]
(จากซ้ายไปขวา) สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ฉายร่วมกับพระชนนีและพระอนุชา

เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ เป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีที่ยังทรงพระชนม์ แต่พระองค์ก็มีพระโรคประจำพระองค์คือพระวักกะพิการเรื้อรัง (ไตพิการเรื้อรัง) เคยเสด็จไปทรงรับการผ่าตัดที่ต่างประเทศถึง 2 ครั้ง และมีพระดำริจะเสด็จไปสิ้นพระชนม์ที่ต่างประเทศเสีย เพื่อมิให้พระชนนีต้องวิตกกังวลหรือยุ่งยากพระทัย แต่พระองค์ได้เสด็จกลับประเทศสยามเพราะทรงทราบข่าวการประชวรของพระชนนี และพระอาการของพระองค์กลับกำเริบขึ้น[19] จนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2482) มีพระอาการหนักมากจนน่าวิตก[12]

พระองค์สิ้นพระชนม์ที่วังคันธวาส ถนนวิทยุ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2482) เวลา 23.15 นาฬิกา ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชันษา 54 ปี ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพารตลอดจนผู้ใกล้ชิด นับเป็นพระราชธิดาองค์สุดท้ายของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีที่สิ้นพระชนม์[19] ในการนี้สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี เสด็จไปงานพระราชทานเพลิงพระศพด้วยพระองค์เอง ซึ่งก่อนหน้านี้สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ไม่เคยเสด็จไปงานพระราชทานเพลิงพระศพพระราชโอรสธิดาพระองค์ใด เนื่องจากคติโบราณที่ห้ามบิดามารดาเผาศพบุตร มิฉะนั้นต้องเผาอีก แต่ครั้งนี้เป็นพระราชธิดาองค์ท้ายสุด พระองค์จึงได้เสด็จมา และมีพระดำรัสที่มีนัยยะความชอกช้ำพระทัย และประชดประชันในพระชะตาชีวิตว่า "...อ๋อ ไปส่งให้หมด พอกันที ไม่เคยไปเลยจนคนเดียว คนนี้ต้องไปหมดกันที"[19] พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ณ ท้องสนามหลวง[20][21]

หลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้พระราชทานวังคันธวาสให้กับโรงเรียนราชินีบน เพื่อเก็บผลประโยชน์เป็นรายได้บำรุงโรงเรียน [22] ปัจจุบันพื้นที่ของวังคันธวาสได้กลายเป็นที่ตั้งของโรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน[23]

ชีวิตส่วนพระองค์

[แก้]
เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงสวมเครื่องประดับที่เหมาะสมกับฉลองพระองค์ที่สวมใส่

สิ่งที่พระองค์ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ คือ การเย็บปักถักร้อย ทรงทำผ้ารองจาน ผ้ารองแก้ว เสื้อกันหนาว หรือไม่ก็ทรงร้อยดอกไม้ ทรงจัดดอกไม้ในแจกันและทรงพระอักษร บางคราวจะทรงเล่นเกม เช่น หมากฮอส สกาลูโด ผสมอักษรอังกฤษเป็นคำ ๆ ทรงเลือกแต่งฉลองพระองค์ซึ่งมีสีสันสวยงาม ทั้งนี้พระองค์โปรดปรานฉลองพระองค์กระโปรง[11] และตัดพระเกศาอย่างชาวตะวันตก[11] ทั้งยังทรงเป็นผู้ริเริ่มการนุ่งผ้าถุงเป็นพระองค์แรก[11] โดยการดัดแปลงผ้าซิ่นธรรมดาให้เป็นผ้าถุงสำเร็จเพื่อความสะดวกสบายในการนุ่ง[24]

พระองค์ถือเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ทรงนำสมัยในเรื่องการแต่งกาย ฉลองพระองค์ของเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ถือเป็นฉลองพระองค์เจ้านายที่ทันสมัยและเก๋ไก๋ที่สุดในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[11] ซึ่งพระพี่เลี้ยงหวน หงสกุล ได้บันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ความว่า "...ท่านโปรดทรงหนังสือฝรั่ง ทรงรับแมคคาซีนนอก แม้แต่แบบเสื้อก็สั่งนอก แม่ [พระพี่เลี้ยงหวน] ก็เป็นผู้เย็บให้ทรงคนเดียว บางครั้งก็ทรงเลือกแบบเอง แล้วให้ฝรั่งห้างยอนแซมสันตัด แต่เป็นชื่อของแม่ และวัดตัวแม่เอง ไม่ต้องลอง นำไปถวายก็ทรงพอดีเลย ถ้าเป็นเสื้อแม่ ฝรั่งเรียกราคาตัวละ ๘๐ บาท ถ้าเป็นฉลองพระองค์เขาก็เรียกราคาแพงกว่านั้น ต่อมาเมื่อเย็บได้เก่งแล้ว ภายหลังก็ไม่ต้องจ้างฝรั่งเย็บ"[25] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ก็ทรงกล่าวถึงพระองค์ใน เกิดวังปารุสก์ ความว่า "...ทูลหม่อมอาหญิงท่านทั้งงามทั้งเก๋ ข้าพเจ้าชอบไปเฝ้าท่านบ่อย ๆ... "[24] ในช่วงงานวันสมโภชพระนคร 150 ปี มีข่าวลือเกี่ยวกับการลอบทำร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ที่สำคัญ[24] พระองค์ก็มิทรงหวาดหวั่นและกล่าวถึงด้วยพระอารมณ์ขันว่า "...วันนี้แต่งเต็มที่ เพราะเวลาตายจะได้สวย ๆ..."[26]

พระองค์ไม่โปรดเครื่องประดับชิ้นใหญ่ แม้จะทรงมีเครื่องประดับจำนวนมากก็ตาม แต่โปรดเครื่องประดับชิ้นเล็ก ๆ ที่เหมาะสมกับฉลองพระองค์ในแต่ละชุด ซึ่งเด็ก ๆ ในพระอุปถัมภ์ พระองค์ก็ไม่ทรงปล่อยให้เชย หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล ทรงเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า เมื่อโรงเรียนราชินีมีงานออกร้านขายของนั้น โปรดให้หม่อมเจ้าพิไลยเลขามาช่วยขายของให้เจ้านายต่างประเทศ รับสั่งให้ถอดเครื่องเพชรที่แต่งอยู่ออกให้หมด เหลือเพียงจี้เพชรอย่างเดียว แล้วตรัสว่า "เด็กฝรั่งเขาไม่แต่งเพชรมาก ๆ "[27] รวมทั้งนางข้าหลวงของพระองค์ถูกกล่าวถึงว่า "...ไม่มีข้าหลวงตำหนักใดจะสวยเก๋ทันสมัยเท่าข้าหลวงของสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์..."[24]

โปรดการอ่านหนังสือ ในทุก ๆ วันจะทรงพระอักษรในช่วงบ่าย บางคราวพระพี่เลี้ยงจันทร์จะนำหนังสือที่ทรงอยู่ไปซ่อนเพื่อที่จะให้พระองค์บรรทม แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จเพราะพระองค์จะทรงเล่มอื่นต่อไปหรือไม่ก็จะทรงหาหนังสือนั้นจนพบ เกี่ยวกับการอ่านหนังสือ พระองค์เคยรับสั่งกับข้าหลวงว่า "ถ้าเกิดไฟไหม้ไม่ต้องเก็บเครื่องเพชร ให้เก็บหนังสือก่อน"[12]

พระองค์ไม่โปรดคนพูดโกหก และจะทรงทำโทษข้าหลวงที่พูดปด ดังปรากฏความว่า "...ความผิดที่สำคัญคือเรื่องการโกหก ถ้าใครพูดโกหกจะถูกเอาป้ายแขวนคอทั้งสองข้าง ในแผ่นป้ายจะเขียนว่า 'ฉันเป็นคนไม่ดี ฉันพูดปด' และจะมีผู้ใหญ่พาตัวตระเวนไปตามที่มีคนอยู่มาก ๆ เพื่อจะได้อายและเข็ดหลาบ จะได้ไม่ประพฤติตัวอย่างนี้อีก..."[28]

พระกรณียกิจ

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2443 พระองค์ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ในการบำเพ็ญพระกุศลสร้างสะพานข้ามคลองเปรมประชากรเพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ เนื่องในโอกาสเจริญพระชันษา 15 ปี และจะก้าวเข้าสู่พระชันษา 17 ปี เสมอพระเชษฐาสองพระองค์ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ โดยชื่อของสะพานได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "สะพานชมัยมรุเชฐ" (ในราชกิจจานุเบกษาสะกดว่า "ชมัยมรุเชษฐ") ซึ่งหมายถึง พี่ชายผู้เป็นเทพ 2 พระองค์[29]

นอกจากนี้พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาของกุลสตรีไทยและทรงทำนุบำรุงการศึกษาของสตรีจำนวนมาก เช่น ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ให้แก่โรงเรียนราชินี, สร้างโรงเรียนสตรีขึ้นอีกแห่งพร้อมทั้งประทานที่ดินและสละราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประทานนามว่า โรงเรียนราชินีบน ในปี พ.ศ. 2472[22][30] ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 พระองค์ได้ประทานเงิน 6,000 บาท แก่โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อให้รื้อถอนอาคารเดิมเพื่อสร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่ ทั้งยังประทานเงินอีกจำนวน 2,000 บาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การเรียน[31] วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2475 ได้ประทานเงินบำรุงโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยและโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ แห่งละ 100 บาท[32] และทรงจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ขึ้น เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยประทานอาคารพร้อมที่ดินประมาณ 4 ไร่ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ซึ่งต่อมาคือมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์)[33][34]

ด้านการแพทย์ ในปี พ.ศ. 2454 พระองค์ได้ประทานทรัพย์ส่วนพระองค์บำรุงโรงพยาบาลสามเสน (ปัจจุบันคือวชิรพยาบาล), โรงพยาบาลสำหรับรักษาโรคติดต่อกัน (ปัจจุบันถูกยุบแล้วเปลี่ยนเป็นสถาบันบำราศนราดูร), โรงพยาบาลคนเสียจริต (ปัจจุบันคือสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา) และโรงพยาบาลบางรัก (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลเลิดสิน) แห่งละ 28 บาท รวมเป็นเงิน 112 บาท เนื่องในโอกาสเจริญพระชันษาเสมอสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี[35] และประทานที่ดินสร้างหอพักนักศึกษาแพทย์ (หอชาย 1) ของโรงพยาบาลศิริราช ตามคำกราบทูลของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก[36] เป็นตึกสามชั้น มีมุขสามมุขทั้งทิศเหนือและใต้ จำนวนห้องพัก 100 ห้อง[37] ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ก่อสร้างหอพักชายขึ้นใหม่ทดแทนหอเดิมที่เคยประทานที่ดินไว้ โดยสร้างเป็นตึกสิบสองชั้น ห้องพัก 160 ห้อง คงเหลือสิ่งก่อสร้างเดิมคือรั้วสามด้านและหอพระ[37] การนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานนามหอพักใหม่นี้ว่า "มหิตลาคาร สมเด็จพระราชปิตุจฉา" เพื่อเป็นเกียรติแก่ทั้งสองพระองค์ โดยมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ไปทรงเปิดมหิตลาคาร สมเด็จพระราชปิตุจฉา เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2538[38]

ด้านศาสนา พระองค์มีศรัทธาในบวรพุทธศาสนา โดยจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวาระสำคัญ เช่น เมื่อครั้งมีพระชันษา 25 ปี ได้ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์เท่ากับพระชันษาคือ 25 ชั่ง ถวายแก่พระอารามที่บูรพมหากษัตริย์ทรงสถาปนาไว้ คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร, วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร และวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร พระอารามละ 5 ชั่ง[39]

พระเกียรติยศ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพะยะค่ะ/เพคะ
พันเอกหญิง
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
รับใช้กองทัพบกสยาม
ประจำการพ.ศ. 2455–2482
ชั้นยศ พันเอกหญิง
หน่วยกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • 16 เมษายน พ.ศ. 2427 – 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2427 : สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง[16]
  • 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2427 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 : สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี[16]
  • 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 – 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 : สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี[40][41]
  • 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2468 : สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร[17]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2468 – 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 : สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร[42]
  • 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 – 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 : สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชร์บุรีราชสิรินธร[18]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

พระยศทางทหาร

[แก้]
  • นายพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกรมทหารม้าที่ 2[51] ต่อมาเป็นผู้บังคับการพิเศษกองพันที่ 2 กรมทหารม้าที่ 1[52][53] และกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์[54] ตามลำดับ

ตราประจำพระองค์

[แก้]

สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร มีตราประจำพระองค์ ประกอบด้วยอักษรพระนาม วอ. มาจากพระนาม "วไลยอลงกรณ์" อยู่ภายในกรอบห้าเหลี่ยมลักษณะคล้ายเพชร สื่อถึงพระนามกรม "เพชรบุรีราชสิรินธร" และรูปห้าเหลี่ยมยังสื่อถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์[55]

พระอนุสรณ์

[แก้]
พระอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ที่โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ

หลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ได้มีการสร้างพระอนุสาวรีย์เป็นที่พึงระลึกถึงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร อันได้แก่[56]

  1. พระอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธรมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี เป็นพระรูปยืนเต็มพระองค์ ความสูง 170 เซนติเมตร หล่อด้วยโลหะรมดำ มีกนก บุญโพธิ์แก้ว เป็นประติมากร
  2. พระอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธรมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี เป็นพระรูปขนาดครึ่งพระองค์ ประดิษฐานหน้ามหาวิทยาลัย
  3. พระอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธรโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระรูปยืนเต็มพระองค์ สูง 170 เซนติเมตร หล่อด้วยโลหะรมดำ ประดิษฐานบนพระแท่นหินอ่อนสีขาว เช่นเดียวกับที่ประดิษฐานในมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี โดยมีปติมากรคนเดียวกัน
  4. พระอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธรโรงเรียนราชินีบน กรุงเทพมหานคร เป็นพระรูปประทับนั่งบนพระเก้าอี้ ขนาดเท่าพระองค์จริง หล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดง โดยมีคุณไข่มุกด์ ชูโต เป็นประติมากร
  5. พระอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธรโรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพมหานคร เป็นพระรูปประทับนั่งบนพระเก้าอี้ขนาดเท่าพระองค์จริง หล่อด้วยโลหะทอง เหลืองผสมทองแดง เช่นเดียวกับอนุสาวรีย์ที่โรงเรียนราชินีบน โดยมีประติมากรคนเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีการนำพระนามของพระองค์ไปใช้ในการตั้งชื่อสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ด้วย เช่น ค่ายเพชรบุรีราชสิรินธร (ร.11 พัน 3 รอ.), มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ และพระนามของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็มาจากพระนามกรมของพระองค์ด้วย

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. ราชสกุลวงศ์, หน้า 86
  2. ราชสกุลวงศ์, หน้า 87
  3. ราชสกุลวงศ์, หน้า 88-89
  4. ราชสกุลวงศ์, หน้า 91
  5. ราชสกุลวงศ์, หน้า 98
  6. ราชสกุลวงศ์, หน้า 101
  7. ราชสกุลวงศ์, หน้า 104
  8. มหาวชิรุณหิศ, สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้า. "จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พุทธศักราช ๒๔๒๗ (วันพฤหัสบดี วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๗)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ เก็บถาวร 2007-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2669, ปีที่ 52, ประจำวันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2548
  10. 10.0 10.1 ปรีดี พิศภูมิวิถี. เก็จแก้วกัลยา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559, หน้า 14
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 สวนสุนันทา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, หน้า 69
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 "สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ - พระประวัติ : สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-16. สืบค้นเมื่อ 2006-12-24.
  13. 13.0 13.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. "สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ผู้นำการแต่งกายทั้งงามทั้งเก๋". ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 34 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2556. กรุงเทพฯ : มติชน. 2556, หน้า 24
  14. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกแก้ว เมียขวัญ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน. 2551, หน้า 104
  15. ศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา, หม่อม. อัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา กฤดากร. นนทบุรี : สารคดี, 2562, หน้า 98
  16. 16.0 16.1 16.2 "พระบรมราชโองการ ประกาศในการพระราชทานพระสุพรรณบัตร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 13 (44): 533. 31 มกราคม พ.ศ. 2439. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  17. 17.0 17.1 "ประกาศ เลื่อน แลตั้งกรม แลตั้งเจ้าพระยา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 28 (0ง): 1727–1728. 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-14. สืบค้นเมื่อ 2008-05-17. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  18. 18.0 18.1 "ประกาศเฉลิมพระเกียรติยศพระราชปิตุจฉา พระเชษฐภคินี และพระอนุชา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 52 (0ง): 1178. 14 กรกฎาคม 2478. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-02. สืบค้นเมื่อ 2008-05-17.
  19. 19.0 19.1 19.2 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. พระราชหฤทัยในสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ กับพระราชโอรสพระราชธิดาทั้ง ๘ พระองค์. ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 33 ฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555, หน้า 35
  20. "หมายกำหนดการ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานเพลิงพระศพและฉลองพระอัฏฐิ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร 2484" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 58 (0ง): 1223. 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2484. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  21. ประมวญสาร. 26 พฤษภาคม 2484. หน้า 2
  22. 22.0 22.1 พระราชประวัติสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
  23. โรงเรียนราชินีบน - สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์
  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. "สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ผู้นำการแต่งกายทั้งงามทั้งเก๋". ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 34 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2556, หน้า 25
  25. หอมติดกระดาน, หน้า 43
  26. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. "สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ผู้นำการแต่งกายทั้งงามทั้งเก๋". ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 34 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2556, หน้า 26
  27. หอมติดกระดาน, หน้า 126
  28. หอมติดกระดาน, หน้า 142
  29. "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ทรงบริจาคทรัพย์สร้างตะพาน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 17 (32): 428. 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  30. "ประวัติของโรงเรียนราชินี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-18. สืบค้นเมื่อ 2012-02-13.
  31. โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี - ประวัติโรงเรียน[ลิงก์เสีย]
  32. "แผนกกรมศึกษาธิการ เรื่องประทานเงินบำรุงโรงเรียนประจำมณฑลพายัพ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 49: 53. 3 เมษายน 2475.
  33. "พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนชื่อสถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ จังหวัดปทุมธานี เป็นสถาบันราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. 2546" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 120 (88ก): 1. 20 กันยายน พ.ศ. 2546. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-01-29. สืบค้นเมื่อ 2015-03-26. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  34. "ประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัย". มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-07. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  35. "แจ้งความกรมศุขาภิบาล เรื่อง สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าวลัยอลงกรณ์ ประทานเงินบำรุงโรงพยาบาล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 28 (0ง): 264. 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2454. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  36. "พระราชประวัติสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฉบับสมบูรณ์". มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-04. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  37. 37.0 37.1 "๑๒๐ ปี โรงเรียนแพทย์ศิริราช". สรรใจ แสงวิเชียร, พ.บ., พ.ด. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  38. "ในพระนามาภิไธย มหิดล" (PDF). มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  39. "แจ้งความกระทรวงธรรมการ แพนกสังฆการี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 25 (5): 11. 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2451. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  40. "พระบรมราชโองการ ประกาศคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงษ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 (ก): 1. 30 ตุลาคม 2453.
  41. "พระบรมราชโองการ ประกาศคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงษ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 28 (ก): 154. 30 กรกฎาคม 2454.
  42. "ประกาศ คำนำพระนามพระบรมวงศานุวงษ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 42 (0 ก): 232. 13 ธันวาคม 2468.
  43. "เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์และเครื่องยศที่พระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่ได้รับพระสุพรรณบัตร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 13 (45): 548. 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2439. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  44. "พระราชพิธีฉัตรมงคล แลถวายบังคมพระบรมรูป" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 28 (0ง): 1767. 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-02. สืบค้นเมื่อ 2013-01-15. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  45. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 10 (35): 374. 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  46. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 36 (0): 3292. 25 มกราคม พ.ศ. 2462. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  47. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 25 (39): 1153. 27 ธันวาคม พ.ศ. 2451. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 2011-08-12. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  48. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 (0ง): 2422. 11 มกราคม พ.ศ. 2453. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  49. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 43 (0ง): 3114. 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 2011-08-12. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  50. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 (0ง): 2958. 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2011-08-15. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  51. "แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกรมทหาร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 29: หน้า 2355. 9 มีนาคม 2455.
  52. "แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง ผู้บังคับการพิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 45: หน้า 418. 6 พฤษภาคม 2471.
  53. ราชสกุลวงศ์, หน้า 94
  54. "แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง ผู้บังคับการพิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 49: หน้า 2426. 9 ตุลาคม 2475.
  55. "กำเนิด "มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์" กับอนุสรณ์ เจ้าฟ้าวไลยฯ ผู้ทรงอุปถัมภ์การศึกษา". ศิลปวัฒนธรรม. 15 กุมภาพันธ์ 2565. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  56. "พระอนุสาวรีย์:สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร". สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-13. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
บรรณานุกรม
  • กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2014-09-21.
  • จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, นายแพทย์. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : ลายคำ, 2552. 600 หน้า. ISBN 978-974-9747-52-0
  • ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. หอมติดกระดาน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553. 394 หน้า. ISBN 978-974-02-0643-9

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]